เคยถามคนเป็นพ่อเป็นแม่หลายๆ คนว่า อะไรสำคัญมากที่สุดในชีวิต เกือบทั้งหมดตอบว่าลูก และเป็นคำตอบเดียวที่ตอบแล้ว คนที่นั่งข้างๆ ไม่โกรธ เพราะไม่ว่าจะเป็นพ่อหรือแม่ ลูกก็คือแก้วตาดวงใจเหมือนกัน และถ้าถามให้ลึกไปอีก ห่วงลูกตอนไหนมากกว่ากัน ถ้าเทียบระหว่างตอนที่ตัวเองยังมีชีวิตอยู่ กับตอนที่ตัวเองตายไปแล้ว คนเป็นพ่อเป็นแม่ส่วนใหญ่ตอบว่า “ตอนตายแล้ว ห่วงลูกมากกว่า เหตุผลเพราะตอนพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ ลูกเป็นอะไร พ่อแม่ยังช่วยเหลือลูกได้ แต่ตอนพ่อแม่เสียชีวิตแล้ว (หากวิญญาณมีอยู่จริง) แม้จะเห็นลูกมีปัญหาอยู่ตรงหน้า คนเป็นพ่อแม่ก็ได้แต่ดู ไม่สามารถช่วยเหลือลูกได้
ดังนั้น การเตรียมพร้อมสำหรับลูกในยามที่พ่อแม่จากไปจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ หากเป็นการเตรียมพร้อมเรื่อง “การเงิน” ก็คือ การวางแผนมรดก
เพราะการวางแผนมรดกเป็นเรื่องของการวางแผนก่อนตายเพื่อประโยชน์หลังตายของเจ้ามรดก จึงต้องมีการวางแผนที่รัดกุมและถูกต้องตามกฎหมาย ไม่งั้น คนที่ได้รับมรดกอาจไม่ใช่คนที่เราอยากให้ได้รับมรดกก็ได้ หรือคนรับมรดกเราอาจต้องเสียภาษีการรับมรดกแทนที่จะได้รับมรดกไปทั้งก้อน ฯลฯ
วิธีหนึ่งในการวางแผนมรดก ก็คือ การทำประกันชีวิต
ประกันชีวิตช่วยให้เราส่งมอบทรัพย์ให้กับคนที่เราอยากให้ได้
วิธีหนึ่งที่ใช้กันสำหรับคนที่ต้องการความมั่นใจว่าคนที่ได้รับมรดกคือคนที่เราอยากให้ได้รับมรดกจริงๆ ก็คือ การทำพินัยกรรม แต่หลายข่าวที่เราพบกันมา ก็คือแม้จะมีการทำพินัยกรรม แต่สุดท้ายคนที่ได้รับมรดกก็ไม่ใช่คนที่ระบุในพินัยกรรม หรือกว่าจะได้รับมรดกก็ต้องฟ้องร้องขึ้นศาลกันหลายปี ปัญหาอาจมาจากพินัยกรรมไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือมีการปลอมแปลงพินัยกรรม ฯลฯ ก็ได้
อีกวิธีที่ช่วยในการส่งมอบทรัพย์ให้คนที่เราอยากให้ ก็คือ การทำประกันชีวิต โดยเราเป็น “ผู้เอาประกัน” และระบุคนที่เราอยากให้ เป็น “ผู้รับประโยชน์” ดังกรณีนี้
กรณีตัวอย่างของนายทวี คิดงาม ได้ทำประกันชีวิตไว้ด้วยทุนประกันภัย 1 ล้านบาท และได้ยกผลประโยชน์ให้กับนายทรัพย์ และนางมี คิดงาม ผู้เป็นบิดา มารดา ต่อมานายทวีได้สมรสกับนางสา และมีบุตรด้วยกัน 1 คน เวลาผ่านไปนายทวีได้ป่วยเป็นโรคไต ก่อนที่เสียชีวิตนายทวีได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมด รวมทั้งเงินเอาประกันภัยจำนวน 1 ล้านบาทตามกรมธรรม์ที่ระบุให้บิดา มารดาของเขาเป็นผู้รับประโยชน์นั้นให้ยกเลิก และขอให้ตกเป็นของบุตร และเมื่อนายทวีเสียชีวิต นางสา ผู้เป็นภรรยาได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดก นางสาจึงไปขอรับเงินสินไหมมรณกรรมจากบริษัทประกันชีวิต ซึ่งบริษัทประกันชีวิตได้จ่ายเงินสินไหมมรณกรรมก้อนนั้นให้กับบิดา มารดาของนายทวีไปเรียบร้อยแล้ว
ต่อกรณีดังกล่าวได้มีการฟ้องร้องต่อศาล ซึ่งบทสรุปในเรื่องนี้นั้น ศาลได้วิเคราะห์และตัดสินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1646 ที่ได้บัญญัติไว้ว่า “บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้” ซึ่งในกฏหมายใช้คำว่าทรัพย์สินของตนเอง ดังนั้นการทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้คนอื่นเมื่อตนถึงแก่ความตาย ทรัพย์นั้นจะต้องเป็นของตนเองไม่ว่าจะอยู่ก่อน ขณะ หรือภายหลังจากทำพินัยกรรมแล้วก็ได้ แต่การทำประกันชีวิตนั้น ผู้เอาประกันภัยได้แสดงเจตนารมณ์ยกให้ผู้อื่นตั้งแต่ต้นย่อมไม่ใช่ทรัพย์ของตน เพราะการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตมีเงื่อนไขการใช้เงินโดยอาศัยการตาย จำนวนเงินเอาประกันภัยที่บริษัทจะจ่ายให้กับผู้รับประโยชน์ที่มีชื่อระบุไว้ในกรมธรรม์ ย่อมตกเป็นของผู้รับประโยชน์ทันทีที่ผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตาย
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าเงินเอาประกันภัยไม่ใช่กองมรดก จึงไม่สามารถจะฟ้องร้องเอาได้
ต่อกรณีดังกล่าวหลายท่านอาจมีคำถามว่า “ทำประกันชีวิตแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ได้เลยหรือ” แน่นอนว่าผู้เอาประกันสามารถเปลี่ยนผู้รับประโยชน์ได้ หากแต่ต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์เป็นลายลักษณ์อักษรกับบริษัทประกันชีวิต
และหากจะพิจารณาสำหรับข้อดีของการประกันชีวิตที่ไม่ใช่มรดกนั้น ข้อแรกก็คือ สามารถระบุผู้รับประโยชน์ได้ตามเจตนารมณ์ของผู้เอาประกันภัย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะต้องดำเนินการตามลายลักษณ์อักษรผ่านบริษัทประกันภัยเท่านั้น
อีกทั้งการรับผลประโยชน์ไม่ต้องเสียเวลาตามกระบวนตามกฎหมายในการจัดตั้งผู้จัดการมรดก และที่สำคัญประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เท่ากับผู้รับประโยชน์ได้รับเต็ม ๆ ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้นั่นเอง
“สินไหมประกันชีวิต” ไม่ใช่มรดก ผู้รับประโยชน์ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดก
มรดก คือทรัพย์สินของผู้ตาย ทรัพย์สินนั้นจึงต้องเป็นของผู้ตายอยู่แล้วในเวลาที่ถึงแก่ความตาย เมื่อความตายเป็นเหตุให้ผู้ตายสิ้นสภาพบุคคลนับแต่ตายแล้วเป็นต้นไป ผู้ตายก็ไม่อาจมีสิทธิหรือหน้าที่ได้ ดังนั้น ทรัพย์สินที่ได้มาเพราะความตาย หรือหลังจากนั้นไปก็ไม่อาจนับได้ว่าเป็นทรัพย์สินของผู้ตาย จึงไม่เป็นมรดกของผู้ตาย
ทรัพย์สินที่ได้มาเพราะเหตุที่บุคคลถึงแก่ความตายนั้น เป็นการถือเอาความตายของบุคคลมาเป็นเหตุให้ต้องชำระเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแก่กัน ตัวอย่างเช่น เงินบำนาญตกทอดซึ่งทางราชการจ่ายให้ในกรณีที่ข้าราชการถึงแก่ความตาย เงินทุนสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลืองานศพและอุปการะบุตรของสมาชิกที่ถึงแก่ความตาย เงินทดแทนที่นายจ้างจ่ายให้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเมื่อลูกจ้างถึงแก่ความตาย เป็นต้น
จากความหมายของมรดกดังกล่าว ทรัพย์สินที่ผู้ตายยกให้แก่ผู้ใดระหว่างมีชีวิต ก็ไม่เป็นมรดก จึงไม่ตกทอดแก่ทายาท และเจ้ามรดกจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์ดังกล่าวให้แก่ผู้ใดอีกไม่ได้
ทรัพย์สินที่ได้มาเพราะเหตุที่บุคคลถึงแก่ความตายก็ไม่เป็นมรดก ดอกผลของทรัพย์มรดกที่เกิดขึ้นภายหลังเจ้ามรดกตายก็ไม่เป็นมรดก
เงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้เอาประกันชีวิตกับบริษัทประกันชีวิตซึ่งเป็นผู้รับประกันภัย เมื่อผู้เอาประกันภัยตาย บริษัทที่รับประกันก็จะใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ที่ผู้เอาประกันระบุไว้สืบเนื่องจากความตายของผู้ตาย เงินที่ได้จากประกันชีวิตนี้จึงมิใช่มรดกของผู้ตายที่มีอยู่ก่อนหรือมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย ดังนั้น เมื่อผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตาย เงินประกันชีวิตเนื่องจากไม่ใช่มรดกจึงไม่ตกทอดไปสู่ทายาท ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมเช่น คู่สมรสตามกฎหมาย, บุตร ฯลฯ หรือทายาทผู้รับพินัยกรรมตามพินัยกรรม แต่จะตกกับคนที่มีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิต
ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่๔๗๑๔/๒๕๔๒ เงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายและบุคคลภายนอกและจำเลยเพื่อให้ใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์สืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต สิทธิตามสัญญาเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงมิใช่มรดกของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายที่โจทก์จะใช้สิทธิแบ่งได้
เว้นแต่ในกรณีหากผู้รับผลประโยชน์ตายก่อนผู้ทำประกันชีวิต สิทธิในการรับเงินประกันชีวิตนั้นก็จะระงับ และไม่ตกแก่ทายาทของผู้รับผลประโยชน์ เพราะสิทธินั้นจะเกิดก็ต่อเมื่อผู้ทำประกันชีวิตถึงแก่ความตาย และเป็นสิทธิเฉพาะตัว เมื่อผู้รับผลประโยชน์ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนผู้ทำประกันชีวิต และผู้ทำประกันชีวิตไม่มีการแจ้งบริษัทประกันชีวิตเพื่อเปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์เป็นคนใหม่ ก็ถือว่าไม่มีผู้รับผลประโยชน์ ฉะนั้น หากต่อมาผู้ทำประกันชีวิตถึงแก่ความตาย เงินประกันชีวิตนั้นก็จะตกเป็นกองมรดก ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจากกองมรดกนี้เพื่อเอาชำระหนี้ได้ และทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคนย่อมได้ส่วนแบ่งเท่าๆ กัน
หรืออีกกรณีคือ ข้อยกเว้นตามกฏหมาย (ป.พ.พ.มาตรา 897) ที่ว่า หากผู้เอาประกันภัยกำหนดให้ใช้เงินแก่ทายาท โดยไม่ได้ระบุชื่อผู้ใดไว้ เงินนั้นก็จะตกเป็นทรัพย์สินส่วนหนึ่งของกองมรดก
ดังนั้น ใครที่ทำประกันชีวิตไว้ให้ลูกหลานเยอะๆ สบายใจได้ ประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ผู้รับประโยชน์จึงไม่ต้องเสียภาษีการรรับมรดก
บทความที่เกี่ยวข้อง