“มาพูดอะไรตอนนี้ ?” เหตุผลที่คนไทยไม่ชอบออมเพื่อเกษียณ

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
SS Banner-Retirement planning-1200x660

แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะรู้ว่า วันนี้ประเทศไทยเป็นสังคมคนสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) คือ มีคนอายุเกิน 60 ปีเกิน 20% ของประชากรทั้งประเทศ และก็เห็นถึงความน่ากลัวของชีวิตวัยเกษียณจากวิกฤติโควิดที่ผ่านมา เพราะโควิดคือแบบจำลองของชีวิตวัยเกษียณที่ดี

โควิดทำให้คนไทยได้รู้ล่วงหน้าว่า เวลาไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่าย ชีวิตลำบากแค่ไหน

โควิดทำให้คนไทยได้รู้ว่า เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล ค่ารักษาพยาบาลแพงมากขนาดไหน

ขนาดโควิดกินเวลาแค่ 3 ปี เรายังเดือดร้อนขนาดนี้ แต่ตอนเกษียณอายุ เราจะมีช่วงเวลาที่ไม่มีรายได้ และเจ็บป่วยเป็นสิบๆ ปี เราจะอยู่ยังไง หากไม่มีการเตรียมพร้อมที่ดีพอ

แต่น่าแปลกที่หลายครั้งเวลาไปบรรยายเรื่อง “การวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ”

  • หากคนฟังเป็นคนวัยใกล้เกษียณ ก็มักจะพูดว่า “ทำไมมาพูดตอนนี้ ? เรื่องสำคัญอย่างนี้ควรบอกให้เขารู้ล่วงหน้าอย่างน้อย 10-20 ปีเพื่อจะได้มีเวลาเตรียมตัว
  • หากคนฟังเป็นคนวัยหนุ่มสาว ก็มักจะพูดอีกแบบว่า “มาพูดอะไรตอนนี้ ? คือ ยอมรับว่าเรื่องเกษียณสำคัญ แต่เร็วไปมั๊ย อีก 30-40 ปีกว่าจะเกษียณ

แล้วอย่างนี้ ใครเป็นฝ่ายถูก ? อยากรู้คำตอบที่ถูกต้อง ก็ควรถามคนที่เกษียณแล้ว ว่าเขาจะทำอะไร ถ้ามีโอกาสอีกครั้ง

จากรายงานวิจัย Ernst & Young Retirement Survey ที่ถามคนที่เกษียณว่า “หากมีโอกาสอีกครั้ง จะทำอย่างไร ?” เมื่อหลายปีก่อนพบว่า

  • 49% กล่าวว่า อยากศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินและบริการเพื่อวัยเกษียณให้มากกว่านี้
  • 46% อยากทำงบประมาณที่ดีกว่านี้เพื่อความถูกต้องของจำนวนเงินที่ต้องการใช้ในยามเกษียณ
  • 46% กล่าวว่า อยากเริ่มวางแผนให้เร็วกว่านี้
  • 31% ต้องการขอคำปรึกษาจากที่ปรึกษาทางการเงิน

แสดงว่าการวางแผนเพื่อวัยเกษียณแต่เนิ่นๆ เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ทำไมคนหนุ่มสาวถึงมองข้าม ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการออมเงินเพื่อวัยเกษียณกันเลย

เหตุผลส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากพฤติกรรมลำเอียงทางการเงิน (Financial bias) เพราะจากคำถามที่ว่า “มาพูดอะไรตอนนี้” แสดงว่า คนหนุ่มสาวไม่เห็นถึงความจำเป็นของการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ

อะไร คือ พฤติกรรมลำเอียงทางการเงินที่ทำให้เกิดการตัดสินใจอย่างไม่สมเหตุสมผล คำตอบหนึ่งที่พบเสมอ เมื่อถามว่า “ทำไมถึงไม่วางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ?” คือ

“ไม่มีเวลา” แต่กลับมีเวลาไปเช็คอินคาเฟ่เก๋ๆ เพื่อถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย (coffee hopping) ทั้งที่หากมองถึงความสำคัญแล้ว การวางแผนเพื่อวัยเกษียณสำคัญกว่ามาก

สรุป ก็คือ คำว่า “ไม่มีเวลา” ไม่มีจริง มีแต่ “ไม่ให้ความสำคัญมากพอ”

แล้วพฤติกรรมอะไรที่ทำให้คนหนุ่มสาวมีพฤติกรรมลำเอียงไม่เห็นความสำคัญของการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ

1
Present bias หรือการมีอคติโน้มเอียงมาทางปัจจุบัน

หมายความว่า คนมักให้น้ำหนักความสุขในปัจจุบันมากกว่าความสุขในอนาคต พูดง่ายๆ คือเรามักจะตามใจตัวเองตอนนี้ หาความสุขตอนนี้ แทนที่จะฝืนใจตัวเองตอนนี้เพื่ออนาคตที่ดีกว่าข้างหน้า แม้ว่าในอนาคตจะให้ผลประโยชน์ที่ดีกว่าก็ตาม พฤติกรรมตัวนี้เคยอ่านพบว่ามาจากพฤติกรรมของคนในยุคดึกดำบรรพ์ที่เวลาล่าสัตว์ได้ ก็จะรีบกินให้มากที่สุด เพราะไม่แน่ว่าอาจหาสัตว์ไม่ได้อีกเลย และเพราะยังไม่รู้วิธีเก็บรักษาอาหาร พฤติกรรมนี้จึงเป็นหนทางแห่งความอยู่รอดที่ถ่ายทอดอยู่ในจิตใต้สำนึกมาถึงปัจจุบัน แต่ในปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมาก แต่พฤติกรรมนี้ยังไม่เปลี่ยน จึงเป็นเหตุผลที่คนส่วนใหญ่เห็นความสุขในปัจจุบันมากกว่าการมีวินัยทางการเงินเพื่อเก็บออมเงินไว้ใช้ยามจำเป็นในอนาคต

2
Overconfidence bias
มั่นใจในความสามารถตัวเองมากกว่าความสามารถตัวเองจริงๆ ที่มี จากรายงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อ 15 ม.ค. 2013 พบว่า ผู้ที่ไม่เคยวางแผนเพื่อการเกษียณ แต่มีความมั่นใจว่าคุณภาพชีวิตหลังเกษียณจะใกล้เคียงหรือดีกว่าปัจจุบันมีสูงถึงร้อยละ 71 จึงทำให้ไม่สนใจที่จะวางแผนเพื่อวัยเกษียณ
3
กลัวขาดทุน (Loss aversion)
คือ เข้าใจว่าความเสี่ยงของการบริหารเงินคือไม่ขาดทุน (volatility risk) แต่จริงๆ แล้ว ความเสี่ยงของการบริหารเงิน คือ เงินไม่พอใช้สำหรับเป้าหมายของชีวิต (shortfall risk) ทำให้มักจะเก็บออมเงินในรูปบัญชีเงินฝากธนาคาร และส่วนใหญ่เก็บในบัญชีออมทรัพย์ที่ดอกเบี้ยต่ำมากเหมือนไม่มีดอกเบี้ย ทำให้ได้รับผลกระทบของเงินเฟื้อไปเต็มๆ
4
มองโลกในแง่ดีเกินไป (Overoptimism)
จากรายงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่กล่าวข้างต้น สัดส่วนการทดแทนรายได้ (Income Replacement Ratio) ที่ผู้ตอบใช้ในการวางแผนมีค่าเฉลี่ยเพียงร้อยละ 34 ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับร้อยละ 70 ซึ่งเป็นค่าขั้นต่ำที่นิยมใช้ในการวางแผนทางการเงิน และส่วนใหญ่จะประเมินอายุขัยสั้นกว่าที่ควร และมีความมั่นใจว่าจะมีสุขภาพดีหลังเกษียณมากเกินควร จึงไม่เห็นความสำคัญกับการเตรียมพร้อมทางการเงินเพื่อการเกษียณ

พฤติกรรมหรืออคติทางการเงินเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพฤติกรรมที่พบได้ทั่วๆไป ไม่แน่นะ วันนี้เราเองยังอาจไม่แน่ใจตัวเองว่า ตัดสินใจทางการเงินด้วยเหตุผลหรือด้วยอคติ



บทความที่เกี่ยวข้อง