เปิดชื่อคนซื้อหุ้น IPO

โดย สิริพร สงบธรรม จังตระกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย
Banner-set-source-ipo-disclosure_1200x660

ตามหลักของการร่วมลงทุน นักลงทุนควรต้องรู้ก่อนว่า เรากำลังจะนำเงินไปลงทุนกับใคร เจ้าของหน้าตา บุคลิก สไตล์การบริหารแนวธุรกิจเป็นอย่างไร และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย

จึงพบว่า นักลงทุนในยุคนี้ควรต้องรอบรู้ ให้รู้รอบในหลายเรื่องจริงๆ……

ประเด็นที่ถูกหยิบออกมาคุยกัน คือ เรื่องของการกระจุกตัวของนักลงทุน ที่ “กระจุก” อยู่เฉพาะกลุ่ม กรณีการกระจายหุ้นก่อนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เรียกกันติดปากว่า IPO หรือ “หุ้นจอง”

ความเข้าใจเดิม มักคิดกันว่า แนวโน้มของราคาหุ้นจอง เมื่อเข้าตลาดฯ แล้ว ราคามักดี หมายถึง สูงกว่าราคาจองซื้อ นั่นหมายถึง มีส่วนต่างของราคาให้ได้เป็น “ผลตอบแทน”

แต่มาในยุคนี้ มีความไม่แน่นอนที่ราคาวันแรกของการเข้าตลาดฯ อาจผิดคาด ราคาต่ำจอง และไม่เคยไต่ระดับขึ้นไปได้อีก ก็พบเห็นกันมาแล้ว

จึงยังเป็นประเด็น “ถกเถียง” กันว่า อาจเป็นเพราะมีการจัดสรรหุ้นจองแบบ “กระจุกตัว” ส่งผลให้มีการคาดเดาเรื่องอุปสงค์-อุปทาน กันไปได้ต่างๆ นาๆ อีก

การนี้ หน่วยกำกับดูแล-ก.ล.ต. จึงมีการทบทวนหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลรายงานการเสนอขายหุ้น IPO (ตามแผนยุทธศาสตร์ปี 2567-2569 : มุ่งเน้นการเสริมสร้างความเชื่อถือ และความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย)

หุ้น IPO ต้องเปิดเผยตามเกณฑ์ใหม่ที่กำลังจะถูกยกร่างปรับปรุงในสาระสำคัญ ได้แก่

  1. หลังเพิ่มทุน ขายหุ้น IPO แล้วนั้น ผู้ถือหุ้น 10 อันดับแรก คือใครกันบ้าง และต้องระบุว่า มีหุ้นที่ถูกห้ามการขายออกมีใครบ้าง สัดส่วนอย่างไร
  2. ใครได้รับการจัดสรรหุ้น IPO ด้วยเกณฑ์ใด แล้วถือหุ้นติดอันดับมากสุด 10 รายแรกด้วยหรือไม่
  3. จัดสรรหุ้น IPO ให้ผู้มีอุปการคุณของบริษัท 10 อันดับแรกคือใคร
  4. ใครได้รับการจัดสรรมากสุด 10 อันดับแรกในโบรกเกอร์ที่ขายหุ้น IPO นั้น

โดยมีการกำหนดเวลาในการเปิดเผยข้อมูลนี้ ภายในเวลาก่อนวันเข้าทำการซื้อขาย 2 วัน หรือ ภายใน 30 วัน จากวันที่ปิดการจองซื้อ

คราวนี้ หากการทำ Public Hearing ตามเกณฑ์ครั้งนี้ มีผลบังคับใช้ คาดว่านักลงทุนจะได้เห็น รายชื่อ “ขาใหญ่” หรือ “เสี่ย” คนดัง อยู่ในบัญชีรายชื่อเหล่านี้ด้วยหรือไม่

นับเป็น “สองมิติ” ที่อาจถูกตีความได้ว่า มี “ขาใหญ่” ดันหุ้น-เป็นเซเลปคนดังที่ดึงดูดใจนักลงทุนรายบุคคลที่อาจเป็นแฟนคลับกันอยู่ หรือมี “ขาใหญ่” ทิ้งหุ้น หักหลัง หนีตาย กันไปแล้ว

โลกของการลงทุนจึงมีความเสี่ยงจากหลายปัจจัย ทั้งที่จับต้องได้ และกลไกอื่นๆ หน่วยงานกำกับดูแลจึงต้องมีการขันนอต แม้กฎหมายอาจชักช้า ตามไม่ทัน แต่หากทุกคนช่วยตาดู หูใส่ จะเป็น “แรงมด” ที่ล้มช้างได้

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับนักลงทุนโดยตรง ดังนั้น พวกเราต้องช่วยกันเข้าไปแสดงความคิดเห็นเกณฑ์ดังกล่าว ใน www.sec.or.th ภายในวันที่ 22 มกราคม 2567 นี้



บทความที่เกี่ยวข้อง