ใกล้ปลายปีก็ต้องมาวางแผนภาษีกันอีกแล้ว พยายามหาช่องทางลดหย่อนภาษีที่นิยมกัน ก็คือ เงินออมส่วนที่เป็นการออมเพื่อเกษียณอายุ เช่น RMF SSF ประกันบำนาญ ฯลฯ ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 500,000 บาท ปีนี้มี Thailand ESG Fund ที่สามารถลดหย่อนภาษีเพิ่มได้อีกสูงสุด 100,000 บาท และในส่วนของประกันชีวิตอีก 100,000 บาท รวมวงเงินลดหย่อนภาษีที่ใช้กันจะอยู่ที่ 700,000 บาท แต่ยังมีการออมที่สามารถลดหย่อนภาษีได้อีกอย่างที่คนไม่ค่อยรู้กัน คือ เงินลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคมที่สามารถลดหย่อนภาษีได้อีก 100,000 บาท
วันนี้ เราจะมาคุยกันนะว่า วิสาหกิจเพื่อสังคมคืออะไร และหากเราต้องการลดหย่อนภาษีมีเงื่อนไขอะไรบ้าง
วิสาหกิจเพื่อสังคมที่จะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ จะต้องผ่านเกณฑ์ของสรรพากร ดังนี้
1
เกณฑ์แรก คือจะต้องเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด) หรือบริษัท (บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด)
ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลประเภทอื่น เช่น มูลนิธิ สมาคม จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์นี้ สำหรับสหกรณ์เป็นนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่แล้ว
2
เกณฑ์ที่สอง คือจะต้องจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภท “ไม่ประสงค์แบ่งปันกำไร”
ในการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม จะสามารถจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้สองประเภท คือประเภทประสงค์แบ่งปันกำไร และไม่ประสงค์แบ่งปันกำไร เฉพาะกรณีหลังเท่านั้นที่ได้รับสิทธิประโยชน์
3
เกณฑ์ที่สาม คือต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามมาตรา 10 ของพระราชกฤษฎีกา
ประกอบด้วย- จดแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร เมื่อจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมแล้ว ต้องจดแจ้งขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกรมสรรพากรผ่านทางhttps://newstartup.rd.go.th/wSocial/main.jsp
- ใช้ทรัพย์สินในกิจการหรือเพื่อกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคมเท่านั้น
- ไม่มีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการ เว้นแต่การจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
- ไม่เป็นคู่สัญญากับผู้ถือหุ้น/หุ้นส่วน และไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนใด ๆ ให้แก่ผู้ถือหุ้น/หุ้นส่วน รวมถึงบุคคลซึ่งมีความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้น/หุ้นส่วน เว้นแต่กรณีที่อธิบดีประกาศกำหนด
- ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งรวมถึงการยื่นภาษีภายใน 150 วันนับแต่สิ้นรอบระยะเวลาบัญชี
สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่แบ่งปันกำไร จะได้รับคือ “การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล” สำหรับภาษีประเภทอื่น ๆ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไม่ได้รับการยกเว้นไปด้วย ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงยังมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอยู่
วิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่แบ่งปันกำไรจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตั้งแต่วันที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการ
- กิจการที่มีวัตถุประสงค์ทางสังคมตั้งแต่จัดตั้ง (มีการจดทะเบียนวัตถุประสงค์ทางสังคมในขณะจัดตั้งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) ได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่จัดตั้ง
- กิจการที่มีวัตถุประสงค์ทางสังคมภายหลังจัดตั้ง (มีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ทางสังคมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในภายหลัง) ได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ทางสังคม
เมื่อวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่ประสงค์แบ่งปันกำไรใช้สิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว หากเกิดกรณีดังต่อไปนี้จะเสียสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้แก่
- ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม
- เลิกเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม แต่ยังคงดำเนินกิจการต่อ
- เลิกกิจการ
ในบางกรณี การเสียสิทธิจะมีผลในรอบระยะเวลาบัญชีแรก หมายความว่ากิจการนั้น หากได้กำไรในปีไหนและใช้สิทธิยกเว้นภาษีไปแล้ว ก็จะต้องเสียภาษีย้อนหลังในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับยกเว้นภาษี กรณีเหล่านี้ ได้แก่
- เปลี่ยนแปลงประเภทวิสาหกิจเพื่อสังคมจาก “ไม่แบ่งปันกำไร่” เป็น “แบ่งปันกำไร”
- เลิกเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม “ก่อน” ครบ 5 ปี นับแต่วันจดทะเบียน แต่ยังคงดำเนินกิจการต่อ
- ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไข
สิทธิประโยชน์ทางภาษีของผู้ลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคม
บุคคลธรรมดา
- หักลดหย่อนเงินลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการจัดตั้งหรือเพื่อการเพิ่มทุนได้ไม่เกินกรณีละ 100,000 บาทสำหรับปีภาษี
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
- หักรายจ่ายเงินลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการจัดตั้งหรือการเพิ่มทุนได้เท่าที่จ่ายจริง
โดยมีหลักเกณฑ์การรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของผู้ลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคม คือ ต้องถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนจนกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมเลิกกิจการ เว้นแต่
- ทุพพลภาพหรือตาย กรณีเป็นบุคคลธรรมดา
- เลิกกิจการ กรณีเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
- ขายหุ้นหรือโอนการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเพิ่มทุนของวิสาหกิจเพื่อสังคม
หากผิดหลักเกณฑ์จะเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนี้
- กรณีผู้ลงทุนโอนหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนก่อนวิสาหกิจเพื่อสังคมเลิกกิจการ จะเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีตั้งแต่ปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชีแรก
- กรณีวิสาหกิจเพื่อสังคมเลิกการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562
- หากเลิกก่อนครบ 5 ปีนับแต่วันที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม จะเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีตั้งแต่ปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชีแรก
- หากเลิกหลังครบ 5 ปีนับแต่วันที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ไม่เสียสิทธิประโยชน์ทางภาษี
สิทธิประโยชน์ทางภาษีของผู้บริจาคให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคม
- บุคคลธรรมดาไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน
- นิติบุคคลจะสามารถหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ โดยต้องบริจาคตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และบริจาคผ่านระบบ e-Donation
ดังนั้น หากบุคคลธรรมดาท่านใดอยากได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ก็ต้องลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคมเท่านั้นนะ บริจาคไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และต้องถือหุ้นวิสาหกิจเพื่อสังคมจนกว่าจะตายกันไปข้าง ไม่เราตายก็วิสาหกิจเพื่อสังคมตาย มิน่า ทำไมถึงไม่ค่อยมีใครสนใจใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตัวนี้ ทั้งที่กฎหมายออกมาตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 อย่างไรก็ตาม เป็นอีกทางเลือกในการลดหย่อนภาษีได้ ควรศึกษาเงื่อนไขต่างๆ ให้ครบถ้วนก่อนใช้สิทธิ