ถามตอบ ข้อสงสัย “RMF”

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
SS Article Banner_1200x660-RMF

ใกล้ปลายปีทีไรเป็นช่วงเทศกาลวางแผนภาษีทุกปี เราจะเห็นหลายๆ คนสนใจมองหาว่าจะซื้อประกันตัวไหนดี RMF หรือ SSF ตัวไหนดี ตอนนี้มี Thailand ESG Fund กองทุนลดหย่อนภาษีรูปแบบใหม่มาเพิ่มให้เป็นอีกทางเลือก และควรจะซื้อเท่าไหร่ที่จะได้ประโยชน์ทางภาษีสูงสุด

จริงๆ ถ้าพูดถึงประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพที่สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท หรือประกันสุขภาพพ่อแม่ที่ลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท ไม่ควรให้น้ำหนักกับการลดหย่อนภาษีมากจนเกินไป ควรจะมองประโยชน์ของประกันมากกว่า ประโยชน์ทางภาษีเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น หากเราให้น้ำหนักกับภาษีเป็นหลัก เราก็อาจซื้อประกันชีวิตรวมประกันสุขภาพเพียง 100,000 บาท หรือซื้อประกันสุขภาพพ่อแม่เพียง 15,000 บาทเท่านั้น ซึ่งทุนประกันที่ได้น่าจะต่ำมากเมื่อเทียบกับมูลค่าชีวิตของเรา หรือค่ารักษาพยาบาลที่จำเป็นต้องจ่ายจริงๆ เมื่อยามเจ็บป่วย และประกันชีวิตเป็นผลิตภัณฑ์การเงินที่มีลักษณะเฉพาะคือ “ซื้อเร็วไป 3 ปี ยังดีกว่าซื้อช้าไปเพียง 1 วินาที”  เพียงวินาทีที่มีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น เราอาจเสียใจที่ไม่ได้ซื้อประกัน

แต่ถ้าเป็น RMF หรือ SSF ปลายปีนี้ ก็น่าจะเป็นอีกปีที่คนที่ชอบซื้อ RMF หรือ SSF ที่มีนโยบายลงทุนในตลาดหุ้นไทย จะได้ต้นทุนที่ถูกกว่าคนที่ซื้อต้นปี หรือคนที่ซื้อแบบ saving plan เพราะนับจากต้นปีมาถึงตอนนี้ (ณ 12 ธ.ค. 66) SET Index ลดไปแล้วประมาณ 18%

สำหรับการซื้อ SSF มักไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับภาษีเท่าไหร่ เพราะเงื่อนไขไม่ซับซ้อน แต่กับ RMF ทั้งที่เป็นกองทุนที่เกิดมาหลายปีแล้ว แต่เงื่อนไขทางภาษีก็ยังเป็นที่สับสนกันอยู่ วันนี้เลยขอนำข้อสงสัยที่สับสนกันมาตอบ เอาเฉพาะที่มีความชัดเจนทางกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการวางแผนลงทุนใน RMF ที่ถูกต้องต่อไป

ก่อนอื่น ขอทวนเงื่อนไข RMF

เงื่อนไขขาเข้า
  • ไม่กำหนดขั้นต่ำ ไม่ระงับการลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน 
เงื่อนไขขาออก
  • ผิด 5 ปี คืนภาษี + กำไร ต้องรวมเงินได้ 40(8) เสียภาษี
  • ผิด 55 ไม่ผิด 5 ปี คืนภาษี 5 ปี กำไรไม่ต้องเสียภาษี
  • ดังนั้น ผิด 5 ปี โทษหนักกว่าผิด 55
    หมายเหตุ: RMF ไม่มีเงินเพิ่ม ถ้ายื่นคืนภาษีพร้อม ภ.ง.ด.90, 91 ภายใน มี.ค. ปีถัดจากปีที่ผิด
กรณีไม่มีเงินได้ ควรซื้อ RMF หรือไม่

ควรซื้อ และใช้สิทธิลดหย่อนภาษี แม้จะไม่ได้ภาษีคืน เพราะเพื่อการนับอายุการซื้อ RMF ต่อเนื่อง และเพื่อไม่ให้ผิดเงื่อนไขการเว้นเงินได้ไม่เกิน 1 ปี 

กรณีซื้อเกินสิทธิ

กำไรของส่วนที่ไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ต้องเสียภาษี ดังนั้นการซื้อ RMF มากเกินสิทธิเป็นโทษ เพราะส่วนเกินสิทธิลดหย่อนภาษีไม่ได้ แต่กำไรโดนภาษี (ควรเอาเงินก้อนที่เกินสิทธิไปซื้อกองทุน Thai ESG ได้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มอีก หรือซื้อกองทุนปกติจะดีกว่า)

ตัวอย่าง
  • ซื้อ RMF มาทุกปี ปีนี้ซื้อต้นปี 400,000 บาท (เต็มเพดาน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษ๊) กลางปีตกงาน ทำให้ซื้อเกินสิทธิ มีคนแนะนำให้ขายส่วนที่เกินสิทธิ 200,000 และยื่นภาษีเฉพาะส่วนที่มีสิทธิ
  • คำตอบ ไม่ควรขายส่วนที่เกินสิทธิ เพราะ RMF บันทึกต้นทุนแบบ average cost แปลว่ายอดที่ขาย ไม่ใช่ยอดที่ซื้อปีนี้ และเป็นยอดของปีก่อนที่ซื้อมา ทำให้ผิดเงื่อนไข ต้องคืนภาษี ส่วนกำไรที่ได้ต้องเสียภาษีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าลงทุนเกิน 5 ปีหรือไม่ ถ้าเกิน ไม่ต้องเสียภาษี (นับจากวันที่ซื้อ RMF ครั้งแรก)

แต่ถ้าเป็นการซื้อ RMF ปีแรก การแนะนำให้ขายส่วนที่ซื้อเกินสิทธิ เป็นการแนะนำที่ถูกต้อง เพราะไม่ต้องคืนภาษี (ก็ยังไม่เคยลดหย่อนภาษี ก็เลยไม่มีภาษีต้องคืน) บทลงโทษมีแค่ ถ้ามีกำไร กำไรต้องเสียภาษี

กรณีหยุดซื้อเกิน 1 ปีติดต่อกัน หรือขายออกบางส่วน
  • หยุดเกิน 1 ปีติดต่อกัน หรือขายออกบางส่วน ถ้ายื่นคืนภาษีภายใน มี.ค. ปีถัดไป นอกจากไม่ต้องเสียเงินเพิ่มแล้ว การนับอายุยังนับต่อเนื่องให้ ถ้าซื้อ RMF ต่อ แต่ถ้าไม่ยื่นภายใน มี.ค. ปีถัดไป ต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5%/เดือน นับจากสิ้น มี.ค. ของปีที่ยื่นลดหย่อนภาษี และถ้าซื้อใหม่ ไม่นับอายุต่อเนื่อง (ข้อ 3 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 402) แต่ถ้าขายหมด แล้วซื้อใหม่ นับ 1 ใหม่
  • ดังนั้น หากจำเป็นต้องขาย RMF ควรขายออกเพียงบางส่วน และยื่นเสียภาษีเพิ่มเติมภายในเดือน มี.ค. ของปีถัดไป เพื่อการนับอายุการซื้อ RMF ต่อเนื่อง และไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5%/เดือน
กรณีซื้อ RMF หลังครบเงื่อนไขอายุ 55 และลงทุนใน RMF มาแล้วเกินกว่า 5 ปี
  • จะไม่ซื้อ หรือจะซื้อเท่าไรก็ได้ (เงื่อนไข 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 ยังอยู่นะ) ไม่ต้องซื้อต่อเนื่อง จะเว้นการซื้อกี่ปีก็ได้ ไม่ถือว่าผิดเงื่อนไข (ข้อ 4 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 401)


บทความที่เกี่ยวข้อง