เวลาไปบรรยายไม่ว่าเรื่องภาษี เกษียณ หรืออะไรก็ตาม เรื่องหนึ่งที่ผู้ฟังให้ความสนใจกันมาก ก็คือ เรื่องการเงินของสามีภรรยา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อดีข้อเสียของการจดทะเบียนสมรส หรือเรื่องการวางแผนภาษี
หากพูดถึงเรื่องภาษีสามี ภรรยา ก็คงต้องอ้างคำวินิจฉัยที่ 17/2555 ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ว่า
“มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากรขัดหรือแย้งต่อมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
คำวินิจฉัยดังกล่าวทำให้กรมสรรพากรต้องมีการบัญญัติเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้ของสามีและภริยาขึ้นใหม่ตามมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
มาตรา 57 ฉ
ในการเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยานั้น ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตามมาตรา 56
ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) สามีและภริยาจะแบ่งเงินได้พึงประเมินเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้ ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง
สามีและภริยาจะตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ หรือจะแยกยื่นรายการและเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) โดยมิให้ถือเอาเป็นเงินได้ของอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ แต่ถ้ามีภาษีค้างชำระสามีและภริยาต้องร่วมรับผิดในการเสียภาษีที่ค้างชำระนั้น
เมื่อได้เลือกยื่นรายการตามวรรคสองและวรรคสามในปีภาษีใดแล้ว ให้ถือว่าเป็นวิธีการยื่นรายการสำหรับปีภาษีนั้นตลอดไป เว้นแต่อธิบดีจะอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการดังกล่าว
ข้อสังเกตจาก มาตรา 57 ฉ เฉพาะวรรค 2 แสดงว่ากรมสรรพากรให้ความสำคัญกับความชัดแจ้งของเงินได้ ว่าใครเป็นผู้มีเงินได้ คนนั้นมีหน้าที่เสียภาษี ดังนั้น ถ้าสามีมีเงินได้จากเงินเดือน 1 ล้านบาท ภริยามีเงินได้จากค่านายหน้า 1.5 ล้านบาท สามีก็มีหน้าที่ยื่นรายการเงินได้ 1 ล้านบาท ภริยามีหน้าที่ยื่นรายการเงินได้ 1.5 ล้านบาท
กรณีนี้อาจมีผู้สงสัย เช่น สามี ภริยา มีบ้านที่เป็นสินสมรส คือ ได้มาหลังจากแต่งงาน ภริยานำไปให้คนอื่นเช่า ค่าเช่าจะเป็นเงินได้ของใคร สามีภริยาคนละครี่ง หรือของภริยาคนเดียว คำตอบ คือ ของภริยาคนเดียว เนื่องจากภริยาเป็นผู้มีเงินได้ กรมสรรพากรจะดูว่าผู้มีเงินได้คือใคร ไม่สนใจแหล่งเงินได้ว่ามาจากไหน ดังนั้น กรณีนี้ ภริยามีหน้าที่เสียภาษี
ส่วนความหมายของประโยคที่ว่า ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) หมายความว่า เงินได้พึงประเมินที่ไม่อาจแยกได้ว่าเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่าย จำนวนเท่าใด ถ้าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) (6) (7) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แบ่งเงินได้พึงประเมินเป็นของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง คือคนละ 50% จะกำหนดเป็นสัดส่วนอื่น เช่น สามี 20% ภริยา 80% ไม่ได้
บัญชีเงินฝากที่เป็นชื่อร่วมสามีภริยา ดอกเบี้ยที่ได้ต้องหารครึ่ง เป็นของสามีครึ่งหนึ่งและของภริยาครึ่งหนึ่ง หรือค่าเช่าที่สัญญาเช่าเป็นชื่อร่วมของสามีภริยา ค่าเช่าที่ได้ต้องหารครึ่ง เป็นของสามีครึ่งหนึ่งและของภริยาครึ่งหนึ่ง ตัวอย่างเช่น สามีและภริยามีเงินได้จากค่าเช่าบ้านร่วมกัน 800,000 บาท ให้แบ่งเงินได้เป็นของสามี 400,000 และเงินได้ของภริยา 400,000 บาท
ยกเว้นเฉพาะเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร จะเลือกแบ่งเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้แบ่งเป็นของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง
สามีและภริยามีเงินได้จากการเปิดร้านขายอาหารร่วมกัน 400,000 บาท จะแบ่งเงินได้เป็นของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง คือเป็นของสามี 200,000 บาท และของภริยา 200,000 บาท หรือจะตกลงแบ่งตามส่วนที่เป็นของตนก็ได้ เช่น ตกลงแบ่งเงินได้เป็นส่วนของสามีร้อยละ 20 และ เป็นส่วนของภริยาร้อยละ 80 ดังนั้น สามีมีเงินได้ 80,000 บาท ภริยามีเงินได้ 320,000 บาท
กรณีนี้ก็เช่นกันว่า ถามว่าจะต้องแสดงหลักฐานให้กรมสรรพากรดูมั๊ยว่า สามี ภริยาตกลงแบ่งกันในอัตรา สามี 20% ภริยา 80% คำตอบคือ ไม่ต้องครับ และถามว่า ถ้าปีนี้กำหนดตกลงแบ่งกันในอัตรา สามี 20% ภริยา 80% ปีหน้าจะขอเปลี่ยนสัดส่วนเป็นอย่างอื่น เช่น สามี 60% ภริยา 40% ได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ครับ เพราะมาตรา 57 ฉ กำหนดสำหรับปีภาษีนั้นๆ เท่านั้น แต่หากตกลงสัดส่วนกันไม่ได้ ก็แบ่งครึ่งครับ
แต่เนื่องจากเงินได้มาตรา 40(8) เป็นเงินได้ที่ต้องยื่นเสียภาษีครึ่งปี (เงินได้พึงประเมิน 4 ประเภท ตามมาตรา 40 (5)(6)(7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ภ.ง.ด.94 ดังนั้น หากตอนยื่น ภ.ง.ด.94 ยื่นสัดส่วนเงินได้มาตรา 40(8) สามี 20% ภริยา 80% ตอนยื่น ภ.ง.ด. 90 ปลายปี ก็ต้องยื่นสัดส่วน สามี 20% ภริยา 80% เปลี่ยนสัดส่วนไม่ได้ เพราะอยู่ในปีภาษีเดียวกัน ถ้าอยากจะเปลี่ยน จะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อนครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง