ยื่นภาษีทุกปี ไม่ต้องกลัวโดนภาษีย้อนหลัง

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
SS Article Banner_1200x660-tax penalty
Highlight

ใครที่คิดจะหนีภาษี “เสี่ยงมาก” เพราะนอกจากโอกาสสูงที่สรรพากรจะเจอแล้ว โทษยังหนักอีกด้วย

ทุกครั้งเมื่อถึงเวลายื่นภาษีเงินได้ ก็มักจะเจอผู้ประกอบการ SME ทั้งหลาย โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้า ที่ทุกปีก็จะกังวลทุกทีว่าจะถูกสรรพากรตรวจเจอว่าเสียภาษีไม่ถูกต้อง ก็จะถูกปรับจนอาจล้มละลายได้ อยากเสียภาษีให้ถูกต้อง แต่ก็กลัวว่าถ้ายื่นเสียภาษีเงินได้ปีนี้ ก็เหมือนเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในระบบสรรพากร  ก็อาจจะถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง เลยมาปรึกษาทำไงดี อยากเป็นคนดี แต่กลัวสรรพากรตรวจสอบภาษีย้อนหลัง

เลยต้องขออนุญาตใช้พื้นที่นี้เคลียร์ข้อข้องใจของพ่อค้าแม่ค้า ทีเดียวเลยนะ

  1. จะยื่นภาษีหรือไม่ ข้อมูลของเราก็อยู่ในระบบสรรพากรเรียบร้อยแล้ว เพราะปัจจุบันสรรพากรใช้เลขประจำตัวประชาชน (ก็เลขบัตรประชาชนนั่นแหละ) เป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ดังนั้นเมื่อเราทุกคนมีเลขประจำตัวประชาชน ข้อมูลเราก็อยู่ในข้อมูลสรรพากรเรียบร้อยแล้ว
  2. ต่อให้เราไม่ยื่นภาษี สรรพากรก็มีช่องทางรู้เงินได้เราอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากผู้จ่ายเงินได้ให้กับเรา ข้อมูลจากธนาคาร หรือข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย อย่าง facebook เป็นต้น
  3. ภาครัฐเองก็กำหนดนโยบายสนับสนุนให้ผู้มีเงินได้ทั้งหลายเข้ามาอยู่ในระบบภาษีกันมากขึ้น อย่างเช่น โครงการคนละครึ่งที่ต้องใช้สิทธิผ่านแอป “เป๋าตัง” ส่วนร้านค้าที่เข้าโครงการ ก็ต้องสมัครแอป “ถุงเงิน” เปิดบัญชีเพื่อรับเงินที่ธนาคารกรุงไทย ทุกรายการซื้อของข้อมูลถ้าเกิน 3,000 ครั้ง หรือ 400 ครั้งและ 2 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทยมีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลรายการเงินเข้าบัญชีเราให้สรรพากรอยู่แล้ว

ดังนั้น สรุปง่ายๆ ณ วันนี้ ใครที่คิดจะหนีภาษี ขอบอกเลยว่า “คุณเสี่ยงมาก” เพราะนอกจากโอกาสสูงที่สรรพากรจะเจอแล้ว โทษยังหนักอีกด้วย เรามาดูโทษของการหนีภาษีกัน

  • กรณีชำระภาษีไม่ทันเวลาที่กฎหมายกำหนด เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระ นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี
  • กรณีเจ้าพนักงานตรวจพบว่าไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการ, ชำระภาษีขาด หรือต่ำไป นอกจากต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังต้องเสียเบี้ยปรับ 1 เท่า หรือ 2 เท่า ของภาษีที่ต้องชำระ แล้วแต่กรณี
  • กรณีไม่ยื่นแบบ หรือยื่นแบบแสดงรายการไม่ทันเวลาที่กฎหมายกำหนดต้องระวางโทษ ปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
  • กรณีจงใจแจ้งข้อความ หรือแสดงหลักฐานเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีมีโทษจำคุก ตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
  • กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีมีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
tax-planning

ทีนี้กลับมาเรื่องอยากกลับตัวเป็นคนดี ถามว่าสรรพากรจะตรวจสอบภาษีเราย้อนหลังหรือไม่ คำตอบ คือ “แล้วแต่ดวง” ไม่มีใครตอบได้ แต่เมื่อเรารู้ตัวว่าทำผิด ก็ควรรีบทำถูกซะตั้งแต่ตอนนี้ เพราะเราคงไม่โชคดีตลอดไป หากยิ่งทำผิดนานมากเท่าไร ยิ่งมีเงินได้มากเท่าไร ความเสียหายเมื่อสรรพากรตรวจเจอยิ่งมากเท่านั้น

ถ้าเรากลับตัวเป็นคนดี แต่ที่ผ่านมาทำผิดตลอด สรรพากรจะมีอำนาจตรวจสอบภาษีเราย้อนหลังได้กี่ปี อันนี้แบ่งได้เป็น 2 กรณีนะ

1
กรณีที่มีการยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์
เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ยื่นรายการ ไม่ว่าการยื่นรายการนั้นจะได้กระทำภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไป ทั้งนี้แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง เว้นแต่กรณีปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี หรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษี อธิบดีจะอนุมัติขยายเวลาการออกหมายเรียกเกินกว่า 2 ปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ
2
กรณีที่มิได้มีการยื่นแบบแสดงรายการ
ประมวลรัษฎากรไม่ได้กำหนดระยะเวลาการออกหมายเรียกไว้ จึงต้องใช้กำหนดระยะเวลาตามอายุความทั่วไป ที่เจ้าพนักงานมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีได้ภายใน 10 ปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ ตามมาตรา 193/31 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกำหนดไว้ว่า "สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเก็บเอาค่าภาษีอากรให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี ส่วนสิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาหนี้ อย่างอื่นให้บังคับตามบทบัญญัติในลักษณะนี้"

ทั้งนี้ อายุความการประเมินเรียกเก็บภาษีสามารถประเมินได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันยื่นแบบแสดงรายการหรือวันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการแล้วแต่กรณี

จากกฎหมายที่กล่าวนี้ แปลว่า ถ้าเราไม่ยื่นแบบภาษีเลย เพราะกลัวสรรพากรจะตรวจพบความผิดย้อนหลัง เราจะนอนไม่หลับ กังวลว่าสรรพากรจะตรวจพบอย่างน้อยก็ 10 ปี แล้วยิ่งเรามีเงินได้ทุกปี หนีภาษีทุกปี ระยะเวลา 10 ปี ก็จะขยับไปเรื่อยๆ และยิ่งเรามีรายได้เพิ่มขึ้น ความเสียหายเมื่อตรวจสอบย้อนหลัง 10 ปีจะยิ่งมาก และอย่าลืมเงินเพิ่ม 1.5%ต่อเดือน หรือเท่ากับ 18%ต่อปี คือดอกเบี้ยที่เราต้องเสียให้สรรพากรด้วย แพงกว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตอีก ยังโชคดีที่กฎหมายกำหนดให้เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่ง (มาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร)

รู้อย่างนี้แล้ว….ทำสิ่งที่ถูกต้องดีกว่านะ



บทความที่เกี่ยวข้อง