มรดกให้ลูกหลานจากสิทธิประโยชน์มนุษย์เงินเดือน

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
SS Article-1200x660-social security fund inheritance
Highlight

หากพวกเรามนุษย์เงินเดือนหรือพนักงานรายวัน ก็ยังมีมรดกให้ลูกหลานได้โดยสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม 3 ก้อน คือ ค่าทำศพ เงินสงเคราะห์ และบำเหน็จชราภาพ อย่าลืมบอกลูกหลานไว้นะ ไม่งั้นจะเสียประโยชน์ที่ควรได้ เพราะไม่รู้อย่างน่าเสียดาย

โควิดไม่เพียงแต่ทำให้ธุรกิจล้มหาย คนตกงาน บางคนที่โชคร้ายถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็มี คนที่มีทรัพย์สินเยอะ ลูกหลานก็คงไม่เดือดร้อน (ถ้าไม่ทะเลาะแย่งมรดกกันเอง) ส่วนคนทำงานเป็นลูกจ้าง ลำพังเงินเดือนที่ได้ก็แทบไม่พอใช้ ตายไปลูกหลานจะเอาจากไหนมาใช้จ่าย

อย่าเพิ่งหมดหวังนะ พวกเราคนที่เป็นพนักงานกินเงินเดือน หรือลูกจ้างแบบพนักงานรายวัน เรายังมีกองทุนประกันสังคมเป็นมรดกให้ลูกได้ ตรงนี้ผู้ประกอบการบางรายยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง คิดว่าการจ้างลูกจ้างแบบเป็นพนักงานรายวันไม่ใช่รายเดือนแล้วจะไม่ต้องขึ้นทะเบียนเข้าระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดเพราะไม่ว่าลูกจ้างจะเป็นพนักงานรายวันหรือรายเดือนก็ตาม หากมีการจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ก็ถือว่าต้องขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้าง และลูกจ้างก็ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนด้วยเช่นกัน ยกเว้นกิจการที่เป็นข้อยกเว้นเท่านั้น

ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคมได้ให้สิทธิประโยชน์คุ้มครองผู้ประกันตนในกรณีเสียชีวิตที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน คือเมื่อผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ทายาทของผู้ประกันตน สามารถรับสิทธิประโยชน์ 3 อย่าง คือ ค่าทำศพ เงินสงเคราะห์ และเงินบำเหน็จชราภาพ

เรามาดูเฉพาะกรณีผู้ประกันตน ม.33 ม.39 เสียชีวิตนะ เนื่องจากผู้ประกันตนส่วนใหญ่อยู่ใน 2 มาตรานี้ ทายาทจะได้รับ สิทธิอะไรบ้าง?

ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันเข้าทำงาน และทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป

ผู้ประกันตนมาตรา 39 คือ ผู้ประกันตนที่ลาออกจากงาน แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมให้ต่อเนื่องโดยสมัครใจ  และมีเงื่อนไขคือ ต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน ไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม

กรณีที่ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 ถึงแก่ชีวิต โดยไม่ใช่เหตุที่มาจากการทำงาน และได้มีการจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต  สิทธิที่จะได้รับมีดังนี้

1
เงินค่าทำศพ

เป็นเงินที่ทางประกันสังคมจ่ายเพื่อช่วยเหลือการจัดการศพของผู้ประกันตน เป็นจำนวน 50,000 บาท ให้กับผู้จัดการศพ ผู้จัดการศพ คือบุคคลที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้ แต่หากผู้ประกันตนจะไม่ได้ระบุไว้ จะดำเนินการจ่ายให้กับผู้ที่จัดการศพจริง โดยต้องมีเอกสารระบุจากสถานที่จัดการศพ ทั้งนี้ ต้องได้จ่ายเงินสมทบอย่างน้อย 1 ใน 6 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต ซึ่งอาจเป็นบุคคลต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • บุคคลที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้จัดการศพ และได้เป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน
  • สามี ภรรยา บิดา มารดา หรือบุตรของผู้ประกันตน ซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพของผู้ประกันตน
  • บุคคลอื่นที่มีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน
2
เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตน ม.33 ม.39 ถึงแก่ความตาย

เป็นเงินที่สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้แก่บุคคลที่ผู้ประกันตนได้ทำหนังสือระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ แต่หากผู้ประกันตนไม่ได้ทำหนังสือระบุชื่อใครไว้ สำนักงานประกันสังคมจะนำเงินสงเคราะห์นั้นมาเฉลี่ยจ่ายให้กับสามีหรือภรรยา บิดา มารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนเท่าๆ กัน

***เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายนั้นจะจ่ายตามจำนวนและระยะเวลาที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบไว้ก่อนถึงแก่ความตาย ดังนี้

  • หากผู้ประกันตนส่งเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน หรือ 3 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 4 เดือน
  • หากผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ 120 เดือนขึ้นไป หรือ 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือนขึ้นไป

ตัวอย่างเช่น

  • หากผู้ประกันตน ม.33 มีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 40,000 บาท จ่ายเงินสมทบให้ประกันสังคมแล้ว 40 เดือน หากเสียชีวิต ทายาทจะได้รับประโยชน์ ดังนี้
          1. ผู้จัดการศพจะได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท
          2. ทายาทจะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย คือ 15,000 บาท (ฐานค่าจ้างสูงสุด คือ 15,000 บาท แม้ค่าจ้างเฉลี่ยจะอยู่ที่ 40,000 บาทก็ตาม) สะสม 4 เดือน เป็นเงิน 30,000 บาท มาจาก 15,000 บาท x 50% x 4 เดือน

ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับ 9,600 บาท มาจากฐานค่าจ้าง 4800 บาท x 50% x 4 = 9,600 บาท

  • หากผู้ประกันตน ม.33 มีเงินเดือนเฉลี่ย 12 เดือนสุดท้ายอยู่ที่ 40,000 บาท จ่ายเงินสมทบให้ประกันสังคมแล้ว 120 เดือน หากเสียชีวิต ทายาทจะได้รับประโยชน์ ดังนี้
    • ผู้จัดการศพจะได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท
    • ทายาทจะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย คือ 15,000 บาท (ฐานค่าจ้างสูงสุด คือ 15,000 บาท แม้ค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือนจะอยู่ที่ 40,000 บาทก็ตาม) สะสม 12 เดือน เป็นเงิน 90,000 บาท มาจาก 15,000 บาท x 50% x 12 เดือน

ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับ 28,800 บาท มาจากฐานค่าจ้าง 4,800 บาท x 50% x 12 = 28,800 บาท

3
เงินบำเหน็จชราภาพ
happiness-asian-family

ผลประโยชน์กรณีชราภาพประกันสังคม แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ เงินบำเหน็จชราภาพ กับเงินบำนาญชราภาพ โดยผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 เท่านั้นที่จะได้รับสิทธิ และจะได้รับสิทธิต่อเมื่อตรงตามเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ประกอบด้วย

1.อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

2.เป็นผู้ทุพพลภาพ

3.เสียชีวิต

มีหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน ดังนี้

กรณีบำเหน็จชราภาพ (รับเงินก้อน)

  • กรณีผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบเฉพาะในส่วนของผู้ประกันตนจ่ายให้กับประกันสังคม
  • กรณีผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 180 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายให้กับประกันสังคม รวมกับส่วนของนายจ้างจ่ายสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทน ตามยอดเงินชราภาพ

กรณีบำนาญชราภาพ (รับเงินเป็นรายเดือนตลอดชีวิต)

  • กรณีผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน รับเงินบำนาญชราภาพรายเดือน 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
  • กรณีผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน รับเงินบำนาญชราภาพรายเดือนเพิ่ม 5% จากอัตรา 20% ในทุก 12 เดือน

เงื่อนไขการรับประโยชน์บำเหน็จชราภาพ

  • หากผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนที่จะได้รับบำนาญ หรือบำเหน็จ ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพในจำนวนตามเงื่อนไขของกรณีบำเหน็จชราภาพ
  • หากผู้ประกันตนเสียชีวิตหลังจากได้รับบำนาญชราภาพมาบ้างแล้ว ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ โดยมีเงื่อนไขการรับสิทธิ ดังนี้
  • กรณีผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพแล้ว ต่อมาเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับจากเดือนที่รับบำนาญ ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต × จำนวนเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน
  • กรณีผู้ประกันตนกลับไปเป็นผู้ประกันตนและต่อมาเสียชีวิต (ได้รับเงินบำนาญไม่เกิน 60 เดือน) ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับก่อนกลับไปเป็นผู้ประกันตน × จำนวนเงินเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน
  • กรณีรับเงินชราภาพก่อนบังคับใช้กฎกระทรวง* แต่ยังไม่ครบ 60 เดือน ทายาทได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับ เดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน
  • กรณีรับเงินชราภาพมาแล้วเหลือน้อยกว่า 10 เดือน ทายาทได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต × 10 เท่า

สรุป หากพวกเรามนุษย์เงินเดือนหรือพนักงานรายวัน ก็ยังมีมรดกให้ลูกหลานได้โดยสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม 3 ก้อน คือ ค่าทำศพ เงินสงเคราะห์ และบำเหน็จชราภาพ อย่าลืมบอกลูกหลานไว้นะ ไม่งั้นจะเสียประโยชน์ที่ควรได้ เพราะไม่รู้อย่างน่าเสียดาย

*กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565



บทความที่เกี่ยวข้อง