เลิกเป็นมนุษย์เงินเดือน ยังได้สิทธิอะไรบ้าง

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
Unemployment-rights-benefit-1200x660
Highlight

ปัจจุบันทั้งนายจ้างและลูกจ้างถูกเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราปกติ 5% ของเงินเดือน โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยเงินสมทบจะถูกแบ่งส่งกองทุนย่อย 3 กองทุน ได้แก่ สมทบเข้ากองทุนชราภาพ 3% สมทบเข้ากองทุนประโยชน์ทดแทน 4 กรณี คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร 1.5% และสมทบเข้ากองทุนว่างงาน 0.5% ในเมื่อเราจ่ายเงินไปแล้วทุกเดือน เราก็ควรรักษาสิทธิประโยชน์ที่เราควรได้เช่นกัน

ตอนนี้โควิดเริ่มจะกลับมาอีกแล้ว ยิ่งหลายคนก็เริ่มการ์ดตก ไปไหนก็เห็นคนใส่หน้ากากน้อยลง แอลกอฮอล์ที่เห็นทุกที่ ก็เริ่มต้องมองหา โควิดยิ่งระบาดเร็วขึ้นไปอีก เมื่อโควิดกลับมา ก็ภาวนาอย่าให้ธุรกิจต้องหยุด คนต้องตกงานอีกเลย ที่ผ่านมาก็แย่พอแล้ว แต่การเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า น่าจะดีกว่าการภาวนา ไม่ว่าจะพัฒนาความรู้ความสามารถหรือปรับปรุงธุรกิจให้อยู่รอด แต่ถ้าเราไปไม่รอดจริงๆ จะทำอย่างไร

หากเป็นมนุษย์เงินเดือน เราถือว่ายังโชคดี มีตัวช่วยอยู่เยอะ ถ้าเราไม่ใช้ จะเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ตัวช่วยที่ลูกจ้างต้องมีกันทุกคน ก็คือ กองทุนประกันสังคมนั่นแหละ เพราะตามกฎหมาย นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างพร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้าง เป็นผู้ประกันตน ภายใน 30 วัน และเมื่อมีการรับลูกจ้างใหม่เพิ่มขึ้น ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายใน 30 วันเช่นกัน มิฉะนั้นจะมีความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปัจจุบันทั้งนายจ้างและลูกจ้างถูกเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราปกติ 5% ของเงินเดือน โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยเงินสมทบจะถูกแบ่งส่งกองทุนย่อย 3 กองทุน ได้แก่ สมทบเข้ากองทุนชราภาพ 3% สมทบเข้ากองทุนประโยชน์ทดแทน 4 กรณี คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร 1.5% และสมทบเข้ากองทุนว่างงาน 0.5% ในเมื่อเราจ่ายเงินไปแล้วทุกเดือน เราก็ควรรักษาสิทธิประโยชน์ที่เราควรได้เช่นกัน

ที่เกี่ยวกับการออกจากงาน ก็มีกองทุนว่างงาน กับกองทุนชราภาพนี่แหละ  ถ้าเราออกก่อนอายุ 55 ปี ก็ได้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน แต่ถ้าเราออกหลังอายุ 55 ปี เราก็ได้สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ  เรามาดูทีละอย่าง  เริ่มจากกรณีว่างงานก่อนเลย

กรณีว่างงานจากประกันสังคม

สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (คือพวกผู้ประกันตนในรูปแบบบริษัทที่เรากับนายจ้างร่วมกันจ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคม) จะมีสิทธิได้รับเงินกรณีว่างงานจากประกันสังคม จะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน (ถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา) โดยต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกรณี ดังนี้ เช่น ทุจริตต่อหน้าที่กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง, ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร ฯลฯ และต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วันนับแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน เพื่อเป็นการแสดงสิทธิในเบื้องต้น

โดยเรามีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 นับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย (7 วันแรกไม่นับ  นับวันที่ 8 เป็นวันแรกในการจ่ายสิทธิ  เช่น ออกจากงานวันที่ 1/3/66  วันที่ 1-7 ไม่นับ นับวันที่ 8/3/66 เป็นวันที่ 1) สิทธิประโยชน์ที่เราในฐานะผู้ประกันตนจะได้รับกรณีออกจากงานแบ่งเป็น ดังนี้

กรณีถูกเลิกจ้าง

เราจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท

กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา

ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท

นอกจากนี้เมื่อผู้ประกันตนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (กรณีออกจากงาน) เราสามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพและกรณีเสียชีวิต)

แต่ประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน เราจะต้องขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน หลังจากถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน หากขึ้นทะเบียนเกินกว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง แปลว่าถ้ามาขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักงานจัดหางาน วันที่ 30 นับตังแต่วันที่มีผลเป็นการลาออกจากงานพอดี เงินชดเชยจะได้ครบ 90 วัน แต่ถ้ามาวันที่ 31 เงินไม่ได้หายไป 1 วันนะ แต่จะหายไป 31 วัน คงเหลือรับเงินชดเชย 59 วัน  ยิ่งถ้าไปช้าเท่าไหร่ จำนวนวันเงินที่จะได้เงินชดเชยยิ่งหายนะ  และหากขึ้นทะเบียนเกินวันที่จะได้รับสิทธิไปแล้ว จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เช่น ถ้าลาออกงานแล้วไปขึ้นทะเบียนตอนเกิน 90 วันไปแล้ว ก็อย่าเสียเวลาไปขึ้นทะเบียนเลย  เกินกำหนดไม่ได้เงินสมทบแล้ว

หมายเหตุ : การคำนวนวันขึ้นทะเบียนให้นับเป็นวันนะ ไม่ใช่นับเป็นเดือน ถ้าออกวันที่ 21 นับวันที่ 21 เป็น 1 เลยแล้วไม่ให้เกิน 30 วัน ดูดีๆ ด้วยบางเดือนมันมี 31 วัน และกรณียื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างเกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทินจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้งแต่รวมกันไม่เกิน 180 วัน แต่ในกรณียื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน เราจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน   



บทความที่เกี่ยวข้อง