ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เรามักได้ยินข่าวเกี่ยวกับการต้มตุ๋นหลอกลวง ไม่ว่าจะเป็นแก๊งค์ call center หรือพวกแชร์ลูกโซ่กันอยู่เสมอ และเราก็มักจะพูดเสมอทุกครั้งที่ได้ข่าวว่า “แค่ฟังก็รู้ว่าหลอก แล้วทำไมถึงเชื่อ ?”
จริงๆ แล้ว ทุกการกระทำของเราก็เกี่ยวกับความเชื่อเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องการลงทุน หลายครั้งที่เราตัดสินใจลงทุนก็เพราะความเชื่อเหมือนกัน อย่างเช่น “เราซื้อหุ้นจองตัวนี้ เพราะเชื่อ marketing หรือ RM บอกว่าดี” “เราซื้อหุ้นตัวนี้ เพราะบทวิเคราะห์โบรกเกอร์บอกว่าดี” “เราซื้อหุ้นตัวนี้ เพราะเซียนหุ้นที่เป็น idol ซื้อ” ฯลฯ แล้วผลลัพธ์ก็คือ “เราขาดทุน” ว่าไปแล้วไม่ต่างอะไรกับคนที่ถูกหลอกลงทุนในแชร์ลูกโซ่ แล้วเราเคยถามตัวเองบ้างมั๊ย “ทำไมถึงเชื่อ?”
เหตุผลที่เรามักจะเชื่อผู้อื่นในการตัดสินใจอะไรสักอย่างมีมากมาย แต่ในครั้งนี้จะขอยกตัวอย่างบางอย่างของพฤติกรรมการตัดสินใจลงทุนของเราที่จะบอกเราว่า “ทำไมถึงเชื่อ ?”
เราเชื่อ เพราะข้อมูลที่ได้ตรงกับที่เคยรู้
เราจะมีแนวโน้มที่จะเชื่อหากข้อมูลที่ได้รับนั้นตรงกับข้อมูลที่เรามี หรือเชื่อว่าเป็นความจริง อย่างเช่น หากเราเป็นคนชอบอ่านบทความตามแหล่งต่างๆ พบว่ากูรูเชียร์ซื้อหุ้น A เพราะว่างบกำไรดี ถ้าเราดูงบแล้วเห็นกำไรดีจริง เราก็มีแนวโน้มจะเชื่อ เพราะข้อมูลที่แสดงในงบตรงกับที่กูรูบอก
แต่สิ่งที่เราควรต้องระมัดระวังก็คือ “ความจริงครึ่งเดียว” หรือ “Half Truth” ความจริงครึ่งเดียวเป็นถ้อยแถลงที่ฉ้อฉลประเภทหนึ่งซึ่งมีองค์ประกอบบางอย่างเป็นความจริง ถ้อยแถลงนั้นอาจเป็นความจริงเพียงบางส่วน หรือโดยรวมแล้วอาจเป็นความจริง แต่เป็นความจริงบางส่วนจากความจริงทั้งหมด หรืออาจใช้องค์ประกอบบางอย่างที่ฉ้อฉล เช่น ใช้เครื่องหมายวรรคตอนไม่เหมาะสม หรือใช้ความหมายสองแง่สองง่าม โดยคนให้ข้อมูลมีเจตนาหลอกลวง หลบเลี่ยง ตำหนิ หรือบิดเบือนความจริงนั้น เมื่อเราเห็นบางส่วนของข้อมูลว่าเป็นจริง เราก็มักจะคิดว่าข้อมูลทั้งหมดเป็นจริง เรามักจะพบกลยุทธ์ความจริงครึ่งเดียวบ่อยมากในการเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อน หรือมีความเสี่ยงสูง
เราเชื่อเพราะคนส่วนใหญ่เชื่อ
เรามักจะมีแนวโน้มตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง เพียงเพราะคนส่วนใหญ่ทำอย่างนั้น เรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่าพฤติกรรมแบบฝูงห่าน (Bandwagon Effect หรือ Herding Effect) เพราะมาจากพฤติกรรมของห่านป่าที่จะบินไปไหนมาไหนตามกันเป็นฝูงนั่นเอง เหตุผลของ Bandwagon Effect คือการทำอะไรเหมือนคนส่วนใหญ่ทำ จะให้ความรู้สึกที่ปลอดภัย และเป็นปกติ ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น (I am not O.K., You are O.K.) ในตลาดหุ้นก็มีพฤติกรรมฝูงห่านอยู่บ่อยด้วยเช่นกัน อย่างเช่น เรามักจะเห็นปริมาณการซื้อขายหุ้นบางตัวที่อยู่ดีๆ ก็สูงขึ้นมา แถมราคาก็ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และก็จะมีนักลงทุนหลายคนเข้าร่วมวงด้วย กลัวตกรถ ทั้งที่ไม่รู้ว่าหุ้นขึ้นเพราะอะไร แล้วสุดท้ายก็ไปค้างอยู่ปลายดอย
เราเชื่อ เพราะผู้พูด คือผู้เชี่ยวชาญ
ซื้อหุ้นตามเซียน หรือโพยหุ้นที่ออกโดยโบรกเกอร์หรือหน้าเพจต่างๆ เป็นกลยุทธ์การลงทุนที่หลายคนชอบ นอกจากเพราะง่ายแล้ว ยังเพราะเรา็น็เชื่อในผู้เชี่ยวชาญ (Expert) คนเรามีแนวโน้มที่จะเชื่อผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น ๆ ที่ออกมาให้คำแนะนำสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องในศาสตร์ของผู้เชี่ยวชาญนั้น เช่น เซียนหุ้นหรือนักวิเคราะห์มาแนะนำซื้อหุ้น เป็นต้น แต่บางครั้งก็มีเหมือนกันที่มีการนำผู้เชี่ยวชาญข้ามสายมาให้คำแนะนำ อย่างเช่น เอาหมอดูมาแนะนำการซื้อขายหุ้น ซึ่งในเมืองไทยไม่รู้เคยมีใครทำการทดลองพิสูจน์ความแม่นยำของเซียนหุ้น กับหมอดู ว่าแม่นจริงเปล่า แต่ที่อเมริกาได้เคยมีผู้ทดลองวัดผลตอบแทนการลงทุนระหว่างนักโหราศาสตร์การเงิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน และเด็กวัย 4 ขวบ โดยเทียบที่ระยะเวลาการลงทุน 1 ปี ผลปรากฏว่า ผู้ที่สร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุด คือ เด็กวัย 4 ขวบ อันดับสอง คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน และอันดับสุดท้ายคือ นักโหราศาสตร์การเงิน หลายคนอาจนึกแย้งในใจว่า ระยะเวลา 1 ปีสั้นไป งั้นเรามาดูการทดลองของ Warren Buffett กันก็ได้นะ
ในปี 2007 Warren Buffett ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าดัชนี S&P 500 สามารถจะเอาชนะกองทุน Hedge Fund ได้ โดยให้ความเห็นว่า “ผู้จัดการกองทุน Hedge Fund เก่งๆ จะแพ้นักลงทุนมือสมัครเล่นที่มีความอดทน โดยการถือกองทุน ETF ที่มีค่าธรรมเนียมต่ำๆ อย่างดัชนี S&P 500 ในระยะยาว”
ว่าแล้ว Warren Buffett ได้ล็อกอินเข้าเว็บไซต์ Longbets.com พร้อมวางเงินจำนวน US$500,000 ว่าภายในเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2008 Warren Buffett จะลงทุนทั้งหมดในกองทุน Vanguard S&P ที่ลงทุนในดัชนี S&P500 โดยจะไม่มีการเติมเงิน สับเปลี่ยน หรือ ถอนเงินออกจากกองทุน Vanguard S&P เลยจนกว่าจะถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2017 เขาเชื่อว่ากองทุนดัชนี S&P500 จะสร้างผลตอบแทนสูงกว่าผลตอบแทนของกองทุนที่บริหารโดยผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ หาก Warren Buffett ชนะ เงินทั้งหมดจะถูกบริจาคให้องค์กรการกุศลที่เขาเลือกเอง ปรากฏว่า ผู้บริหารกองทุน Hedge Fund กองหนึ่งที่ชื่อว่า Protege รับคำท้า โดยขอแบ่งลงทุนใน 5 กองทุน
ครบกำหนด 10 ปี ปรากฎว่า กองทุนดัชนี S&P 500 ที่ Warren Buffett ลงทุน มูลค่าเพิ่มขึ้นมาทั้งสิ้น 125.8% คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 8.5% ในขณะที่เฮดจ์ฟันด์ทั้ง 5 กองทุน ทำผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีเพียง 3%
นั่นหมายความว่า หากเราลงทุนในกองทุนดัชนี S&P500 1 ล้านดอลล่าร์ เราจะได้เงินเพิ่มขึ้นมา US$1,260,983 แต่ถ้าเราลงทุนกับเฮดจ์ฟันด์ เราจะได้เพิ่มขึ้นมาแค่ US$343,916 เท่านั้น นับเป็นความแตกต่างถึง US$917,067 หรือประมาณ 91% เลยทีเดียว
เวลาผ่านไป 3 ปีหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัท Berkshire Hathaway ของ Warren Buffett ได้ตัดสินใจเข้าซื้อกองทุน ETF เป็นครั้งแรกในไตรมาส 4 ปี 2019 ได้แก่ SPDR S&P 500 ETF Trust (SPY) และ Vanguard S&P 500 ETF (VOO) รวมมูลค่า 25 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
ตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น คือบางส่วนของพฤติกรรมของเราที่ตัดสินใจบนความเชื่อ แล้วอย่างนี้เราจะบริหารการตัดสินใจอย่างไรดี ก็ขอยกหลักกาลามสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ว่าด้วยวิธีปฏิบัติต่อสิ่งที่ตนสงสัย หรือหลักความเชื่อ 10 ประการ เป็นหลักประกอบการตัดสินใจ ดังนี้
และปิดท้ายด้วยคำเตือน ให้ท่องไว้ทุกครั้งก่อนลงทุน “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”
บทความที่เกี่ยวข้อง