เราตัดสินใจถูกหรือเปล่า ?

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
SS Article Banner_1200x660 -Investment Tips

ช่วงว่างๆ ได้เปิดดูหุ้นกลุ่มธนาคารในโปรแกรม Streaming เพราะเห็นว่าเป็นหุ้นที่พื้นฐานดี แถมราคาถูก ขออนุญาตไม่เอ่ยนะเป็นหุ้นตัวไหน เดี๋ยวกลายเป็นใบ้หุ้นโดยไม่มีใบอนุญาต ขอเล่าเป็นอุทาหรณ์การลงทุนนะ

สมมติหุ้น A คือหุ้นที่สนใจ เราก็ดูค่า P/E ก็อยู่แถว 7 เท่า แปลว่า ถ้าจ่ายปันผล 100% แค่ 7 ปี ก็คืนทุนค่า P/B ก็อยู่แถว 0.6 เท่า เท่ากับว่าถ้าเราซื้อที่ราคานี้ ต้นทุนเราถูกกว่าเจ้าของบริษัทถึง 40% ดู Dividend yield = 3.5% แปลว่าถ้าซื้อที่ราคานี้ เราน่าจะได้เงินปันผลเทียบกับราคาที่ลงทุนสูงถึง 3.5% ดีกว่าฝากแบงค์เห็นๆ

Bank

ทีนี้ก็มาเริ่มดูต่อว่า ราคาตอนนี้ถูกหรือแพง ลองดูราคาย้อนหลัง 3 เดือน เฮ้ย! ราคาลงมาเยอะมาก เทียบกับหุ้นกลุ่มแบงค์ด้วยกัน ราคาก็ลงมาเยอะ เทียบกับ SET ราคาที่ลงมาเยอะกว่ามาก แถมราคา ณ ตอนนั้นเป็นราคาที่ต่ำสุดในรอบปีที่ผ่านมา อย่างนี้ midnight sales ชัดๆ ต้องรีบซื้อ ว่าแล้วก็รีบเคาะขวาซื้อเลยทันที

ไม่รู้มีใครเคยตัดสินใจลงทุนแบบนี้หรือเปล่า เราเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยตัดสินใจอย่างนี้นะ อย่างสมัยก่อนวันไหนที่ตลาดหุ้นตกเยอะๆ ก็จะรีบเข้าแบงก์ไปซื้อ RMF, LTF เพราะมองว่าจะได้ของถูก (วันต่อมาเจอถูกกว่า TT)

เหตุผลของการตัดสินใจนี้ ก็คือ เรามีอคติในการพิจารณา และ การตัดสินใจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของจิตใจของคนเรา อคติกรณีนี้เรียกว่า การคาดการณ์จากจุดอ้างอิง reference point (the "anchor") โดยเราพิจารณาว่า ควรจะตัดสินใจซื้อหรือไม่ โดยเทียบ

  • ราคาปัจจุบันกับราคาในอดีต ยิ่งราคาต่ำกว่าราคาในอดีตมากเท่าไหร่ เรายิ่งอยากซื้อมากเท่านั้น
  • ราคาปัจจุบันกับราคาเฉลี่ยของหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ยิ่งราคาต่ำกว่าราคาเฉลี่ยของหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันมากเท่าไหร่ เรายิ่งอยากซื้อมากเท่านั้น
  • ราคาปัจจุบันกับค่าดัชนีตลาดหุ้น ยิ่งราคาต่ำกว่าค่าดัชนีตลาดหุ้นมากเท่าไหร่ เรายิ่งอยากซื้อมากเท่านั้น

จริงๆ แล้ว การลงทุนโดยเลือกมองจังหวะซื้อที่ราคาต่ำที่สุด ก็ไม่ใช่เรื่องผิด หากมูลค่าของการลงทุนนั้นมีสูง แต่หากการลงทุนนั้นที่ราคาถูกเป็นเพราะมูลค่าของการลงทุนลดต่ำลง หรือเทียบกับการลงทุนอื่นแบบเดียวกัน เช่น หุ้นตัวอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ที่ราคาอาจสูงกว่าหุ้นที่เราสนใจ แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าแล้ว กลับถูกกว่า ฯลฯ การตัดสินใจโดยเปรียบเทียบราคาอย่างเดียว ก็ไม่ใช่การตัดสินใจลงทุนที่ถูกเช่นกัน ตัวอย่างเช่น

  • เราไม่ซื้อหุ้น A เมื่อ 5 วันก่อนที่ราคา 10 บาท เพราะเทียบกับราคาก่อนหน้าราคาอยู่แถว 9 บาทเท่านั้น แต่เราซื้อหุ้น A วันนี้ที่ราคา 8.50 บาท เพราะราคาต่ำกว่า 9 บาท โดยที่ไม่ได้ดูว่าที่ราคาหุ้น A ลดลง เพราะมีการจ่ายปันผล 2 บาท มูลค่าหุ้น A ลดลง 2 บาท ราคาก็ควรลด 2 บาทด้วยเช่นกัน ถ้าราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 9 บาท ราคาที่เราควรซื้อก็น่าจะอยู่แถว 7 บาทเท่านั้น
  • อย่างกรณีที่ราคาหุ้นลดต่ำลงมากจนถึงขนาดต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ เราควรจะ
    • ฉุกคิดขึ้นมาว่า ทำไมถ้าหุ้นตัวที่เราสนใจ และมองว่าเป็นหุ้นที่ดี ทำไมราคาถึงลดลงมากขนาดนี้ คนอื่นเขามองเห็นอะไรในสิ่งที่เราไม่เห็นหรือไม่ หรือ
    • เราคิดว่าเราฉลาดสุดๆ คนอื่นมองไม่เห็นโอกาสทองนี้ ปล่อยให้หุ้นดีราคาถูกอย่างนี้หลุดมือได้ไง
  • หากมีคนมาขายที่ตรงถนนสีลมให้เราที่ราคา 9 แสนบาทต่อตารางวา เราว่าแพงหรือถูก ถ้าราคาประเมินอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อตารางวา ราคาที่เราซื้อได้ 9 แสนบาทต่อตารางวา ก็ถือว่าถูก แต่ถ้าราคาประเมินอยู่ที่ 8 แสนบาทต่อตารางวา ราคาที่เราซื้อได้ 9 แสนบาทต่อตารางวา ก็ถือว่าแพง (สมมติราคาตลาดเท่ากับราคาประเมิน)
  • หากเราจะซื้อที่โดยดูราคาประเมินระหว่าง จ.สมุทรปราการ อ.พระสมุทรเจดีย์ 500 บาท/ตารางวา, จ.เพชรบุรี อ.ชะอำ 100 บาท/ตารางวา และ จ.ลพบุรี อ.ลำสนธิ 30 บาท/ตารางวา เราจะซื้อที่ไหน แน่นอนถ้าเรามองหาของถูก เราก็คงเลือก อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี เพราะราคาถูกสุด แต่ถ้าเรามองที่มูลค่าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เราก็คงเลือก อ.ชะอำ หรือ อ.พระสมุทรเจดีย์ แทน

กรณีดังกล่าวนี้ คือตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยให้พวกเราได้ตระหนักว่า การตัดสินใจหรือพิจารณาอะไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้ว เราไม่ได้ตัดสินโดยการพิจารณาสิ่งนั้นตามความเป็นจริง แต่เราใช้อคติของตัวเราเองในการตัดสินใจ โดยในกรณีที่อ้างถึงนี้ คือ อคติในการเปรียบเทียบของตัวเราเองในการตัดสินใจ ซึ่งทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้

หรืออีกตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่เรามักจะใช้อคติในการเปรียบเทียบของเราในการตัดสินใจ เช่นการตัดสินใจว่า ทำไม่ได้ หรือเป็นไปไม่ได้ เพียงเพราะยังไม่เคยมีใครทำได้ (จุดอ้างอิงของเรา คือ ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน) แต่เมื่อลองมีใครทำได้สักคน ก็จะมีคนอื่นทำได้ตามกันอีกมากมาย เพียงเพราะจุดอ้างอิงเดิมได้ถูกทำลายไปแล้วนั่นเอง ในวงการกีฬาจะมีตัวอย่างทำนองนี้ให้เห็นมากมาย อย่างเช่น กรณีการวิ่ง 1 Mile (1.6 km.) ให้ต่ำกว่า 4 นาที (4 Minute-Mile) ที่นักวิ่งในอดีตหรือแม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการวิ่งในอดีตทุกคน เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ด้วยข้อจำกัดทางร่างกายของมนุษย์ จนเรียกกันว่า กำแพง 4 minutes จนกระทั่งในวันที่ 6 พฤษภาคม 1954 นักวิ่งชื่อ Roger Bannister สามารถวิ่งผ่านทะลุขีดจำกัดด้วยเวลา 3.59 นาที บางคนถึงขนาดยกย่องเหตุการณ์นี้ว่าเป็นปรากฎการณ์ เพราะ Bannister สามารถทำสิ่งที่คนทั้งโลกเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ และพอคนทั้งโลกเชื่อว่าการวิ่ง 4 Minute-Mile เป็นไปได้ หลังจากนั้นกลายเป็นว่าการวิ่งต่ำกว่า 4 Minute-Mile นั้นเป็นเรื่องปกติ

อีกกรณีหนึ่ง ก็คือ คำกล่าวของศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย อดีตประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ปูชนียบุคคลแห่งวงการหลักทรัพย์ไทย ที่ว่า “สิ่งที่ถูกต้องคือถูกต้อง แม้ไม่มีใครทำสิ่งนั้น สิ่งที่ผิดคือผิด แม้ทุกคนทำสิ่งนั้น” ซึ่งเป็นคำพูดที่เตือนใจให้เราไม่เป็นเหยื่อของอคติ การคาดการณ์จากจุดอ้างอิง reference point (the "anchor") ที่หลายคนมักจะเป็น อย่างเช่น เรื่องวัฒนธรรมนักเลงคีย์บอร์ดในสังคมโซเชียลที่ชอบวิจารณ์ผู้อื่นเสียๆ หายๆ อย่างไร้ความรับผิดชอบ ณ วันนี้ เมื่อเป็นสิ่งที่ผิด ต่อให้คนส่วนใหญ่ในสังคมทำกัน ยังไงก็ไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งที่ผิดเป็นถูกได้

การป้องกันปัญหาการตัดสินใจที่ผิดพลาดจากอคตินี้ ก็คือ

  1. เราต้องมีสติอยู่กับตนเองตลอดเวลา ถามตัวเองก่อนตัดสินใจเสมอว่า เราตัดสินใจอย่างมีอคติหรือไม่ ติดอยู่ในกรอบความคิดของตนเองหรือไม่ และ
  2. เราต้องมีความรู้ว่า มูลค่าแท้จริงของสิ่งที่เราจะต้องตัดสินใจคืออะไร การตัดสินใจของเรา เราตัดสินใจบนมูลค่าที่แท้จริงหรือไม่

สุดท้ายนี้ ก็ขอให้พวกเรามีสติตลอดเวลา มีความรู้ที่ดี ก่อนตัดสินใจอะไรทุกครั้ง ก็ลองตรวจสอบตัวเองก่อนนะว่า เราตัดสินใจโดยอคติหรือเหตุผลที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: SET SOURCE ลงทุน หุ้น


บทความที่เกี่ยวข้อง