เพื่ออุดช่องว่างของมหันตภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทุกภาคส่วนล้วนเดินหน้าหาแนวทางที่จะช่วยลดผลกระทบของวิกฤตในครั้งนี้ เช่นเดียวกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ที่ขับเคลื่อน โครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง” Plant &Protect แพลตฟอร์มปลูกป่าและติดตามผลการปลูก โดยทำงานกับภาคีเครือข่ายการปลูกป่า ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ คือกรมป่าไม้ ภาคเอกชน (ผู้สนับสนุนการปลูก) และชุมชนที่ดูแลป่า โดยเน้นการมีส่วนร่วมในการเพิ่มจำนวนต้นไม้เพื่อสร้างผืนป่าอย่างเป็นรูปธรรม และมุ่งสร้างระบบนิเวศให้สมดุลตั้งแต่ต้นทาง
ล่าสุด SET ร่วมกับ ทีมงานกรมป่าไม้ และชุมชน ลงพื้นที่ติดตามผลการปลูกป่าบนพื้นที่ 10 ไร่ ต้นไม้ 2,000 ต้น ณ ป่าชุมชนบ้านชัฎหนองยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี นับเป็นแปลงปลูกแรกของโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2562 ด้วยการสนับสนุนจาก องค์กรภาคตลาดทุน ได้แก่ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD), บริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด (TCH), ชมรมคัสโตเดียน และชมรมปฏิบัติการหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) สนับสนุนงบประมาณ รวม 400,000 บาท เพื่อปลูกและป้องต้นไม้ให้รอด 100 % โดยชุมชนร่วมดูแลเป็นเวลาต่อเนื่อง 6 ปี
ป่าชุมชนบ้านหนองชัฎหนองยาว เดิมเป็นพื้นที่ถูกบุกรุก ก่อนทวงคืนกลับมาเป็นป่าชุมชน ความท้าทายที่พบ คือ พื้นที่ปลูกมีความแห้งแล้งมาก เพระอยู่ในพื้นที่เงาฝน บางปีไม่มีฝนตกเลย และผลจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นเวลานาน ทำให้คุณภาพดินไม่ดี กระทั่งได้เข้าร่วมเป็นพื้นที่ปลูกต้นแบบในโครงการ Care the Wild
เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี นับจากวันเริ่มปลูกเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2562 ต้นไม้ทั้ง 2,000 ต้น ในพื้นที่ 10 ไร่ รอดตายกว่า 95% มีอัตราการเจริญเติบโต วัดจากความสูง เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยทั้งแปลงกว่า 4 เมตร และในต้นไม้บางประเภท สูงกว่า 6.5 เมตร โดยมีวงรอบต้นไม้เติบโตประมาณ 15 เซนติเมตร
จากความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่ ร่วมใจช่วยกันดูแลรักษาป่าอย่างเข้มแข็ง ส่งผลให้ป่าชุมชนบ้านชัฎหนองยาว นับเป็น SUCCESS CASE ของโครงการฯ ที่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและความสำเร็จของการดูแลป่าชุมชนอย่างยั่งยืน
ยุภาวรรณ ศิริชัยนฤมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานปฏิบัติการ SET และกรรมการผู้จัดการ TSD เผยว่า ที่ผ่านมา ทาง TSD ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจขับเคลื่อนกิจกรรมด้าน CSR มาโดยตลอด จึงประสานกับทีมที่ดูแลเรื่องการพัฒนาเพื่อสังคมของ SET ซึ่งดูแลโครงการ Care the Wild ก็มองว่าการปลูกป่าเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ 4 หน่วยงานจึงจับมือกัน และตัดสินใจเลือกพื้นที่ป่าชุมชนบ้านชัฎหนองยาว พื้นที่ภาคกลางที่มีความแห้งแล้ง โดยเหตุผลหลักที่เลือกก็มาจากความพร้อมของคนในชุมชน ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชุมชนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์
"ป่าเป็นองค์ประกอบของพื้นที่ทำกินของเขา ไม้ที่เราไปปลูกชาวบ้านและชุมชนก็เป็นคนเลือก เพราะเขาจะเข้าใจสภาพพื้นที่ สภาพอากาศ สภาพดิน และสภาพน้ำของเขาอยู่แล้ว พอทุกอย่างตอบโจทย์เขา ป่าก็เป็นแหล่งกลางที่เขาสามารถใช้ประโยชน์ได้"
ยุภาวรรณเล่าต่อว่า ปัจจุบันผ่านมา 3 ปีกว่านับจากวันที่เริ่มปลูกเมื่อปี 2562 ต้นไม้ในป่าชุมชนบ้านชัฎหนองยาวเติบโตรอดเกือบ 100% ตอกย้ำความเชื่อที่ว่า ถ้าชุมชนมีความพร้อม ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ โดยจุดแข็งสำคัญอยู่ที่ความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่ ในการช่วยกันดูแลรักษาผืนป่า
สำหรับป่าชุมชนบ้านชัฎหนองยาว นับเป็นโครงการนำร่อง ก่อนที่ SET จะจัดตั้งโครงการ Care the Wild ที่เปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชนในประเทศไทย มุ่งลดวิกฤตโลกร้อน ภารกิจระดับประเทศที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน
นอกจากนี้ ความสำเร็จของป่าชุมชนบ้านชัฎหนองยาว ยังถูกถ่ายทอดผ่าน นายประเสริฐ ม่วงอยู่ ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้ จ.สุพรรณบุรี ที่เล่าว่า ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ถูกบุกรุก ก่อนชุมชนจะขอคืนมาได้ สภาพที่เข้ามาตอนนั้นมีแต่หญ้าคาและไม้หนาม ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยทิ้งพื้นที่ตรงนี้ พยายามปลูกต้นไม้หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จนชาวบ้านเริ่มท้อ กระทั่งตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้ามานำร่องโครงการ Care the Wild ในปี 2562 ด้วยคอนเซปต์โครงการฯ ทำให้ชุมชนมีงบประมาณดูแลจัดการ รวมถึงการวางระบบน้ำแบบน้ำหยด ต้นไม้จึงรอดตายและเติบโตดี จนกลายมาเป็นต้นแบบการดูแลที่มีประสิทธิภาพ
สำหรับพันธุ์ไม้ในผืนป่าแห่งนี้ ผอ.ศูนย์ป่าไม้สุพรรณบุรี อธิบายว่ามีอยู่ 3 กลุ่มที่ขึ้นผสมผสานกัน กลุ่มแรก คือ ไม้ป่า ที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ เติบโตได้ดี กลุ่มที่สอง คือ ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ไม้พะยูง ไม้ประดู่ ไม้พะยอม และกลุ่มที่สาม คือ พืชที่ชาวบ้านสามารถเก็บกินหรือใช้ประโยชน์ได้ เช่น มะขามป้อม มะม่วง ขี้เหล็ก มะตูม
พร้อมเล่าต่อว่า หลังการดำเนินโครงการฯ ในปีแรกก็เริ่มเห็นผลแล้ว เนื่องจากปกติช่วงหน้าแล้งต้องมีไฟป่าทุกปี แต่เมื่อต้นไม้ขึ้นมาเขียวเต็มพื้นที่ ก็ไม่เกิดไฟป่าอีกเลย เมื่อสิ่งที่ทำเกิดประโยชน์ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านเกิดความรัก และทำให้ป่าผืนนี้ถูกดูแลอย่างดีโดยคนในชุมชน
“จากปีนั้นถึงปีนี้ เป็นเวลา 3 ปี จากพื้นที่ป่าที่เคยโดนบุกรุก มีแต่พวกหญ้าคา และเกิดไฟป่าทุกปี แต่ 3 ปีให้หลัง เป็นป่าสมบูรณ์คล้ายป่าธรรมชาติ
“ความสำเร็จที่เห็นได้ชัด คือ ได้พื้นที่ป่าคืนมา ได้ความร่วมมือจากชุมชน และการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ลงมาช่วยชาวบ้าน ได้ใจชาวบ้านไปเต็มๆ ถึงจะเริ่มด้วยพื้นที่เล็กๆ แค่ 10 ไร่ แต่เชื่อว่าจะสามารถต่อยอดได้ ท้ายที่สุดเชื่อว่าชาวบ้านจะได้ประโยชน์จากป่าผืนนี้” ผอ.ศูนย์ป่าไม้สุพรรณบุรี กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ชุมชนจะดูแลพื้นที่ป่าชุมชนบ้านชัฎหนองยาว ต่อเนื่องตลอด 6 ปี ตามเป้าหมายของโครงการฯ ที่มุ่งปลูกต้นไม้ให้ได้ผืนป่าอย่างแท้จริง
โครงการ Care the Wild เริ่มดำเนินโครงการ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา SET ร่วมกับพันธมิตรรวม 81 องค์กร ได้เพิ่มผืนป่าไปแล้ว 12 ป่าชุมชน ใน 9 จังหวัดทั่วประเทศ รวมเนื้อที่ปลูกทั้งสิ้น 312.5 ไร่ ต้นไม้กว่า 65,000 ต้น ซึ่งต้นไม้ที่ปลูกจะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ 585,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า / ปี
จึงมั่นใจได้ว่า โครงการ Care the Wild ภายใต้การนำของ SET ร่วมกับการสนับสนุนของภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน สานพลังความร่วมมือของชาวบ้านในพื้นที่ จะเป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง เพิ่มพื้นที่สีเขียวในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการ ได้ที่ www.setsocialimpact.com/carethewild
“SET…Make it Work for Everyone”
บทความที่เกี่ยวข้อง